วันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

“ตักบาตรหาบจังหัน” แง่งามในวิถีธรรมดาที่ไม่ธรรมดา แห่ง “บ้านหาดสองแคว” อุตรดิตถ์

“ตักบาตรหาบจังหัน” แง่งามในวิถีธรรมดาที่ไม่ธรรมดา แห่ง “บ้านหาดสองแคว” อุตรดิตถ์


ชาวบ้านหาดสองแควหาบจังหันไปที่วัด
 

       ภาพที่คุ้นชินในยามเช้าตรู่ตามต่างจังหวัด คือภาพคนเฒ่าคนแก่ออกมายืนรอเตรียมอาหารใส่บาตรพระ บรรยากาศยามเช้าที่เย็นสบาย เสียงต่างๆ รอบตัวยังคงเงียบสงบ พระสงฆ์จีวรสีเหลืองส้มออกบิณฑบาตไปยังบ้านต่างๆ เพื่อให้ชาวบ้านได้ร่วมทำบุญกัน
      
       ที่ “บ้านหาดสองแคว” อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ ก็เป็นดังเช่นหมู่บ้านในต่างจังหวัดอื่นๆ ซึ่งบ้านและวัดยังคงผูกพันกันเหนียวแน่น แต่การใส่บาตรยามเช้าของคนหาดสองแควไม่ธรรมดาเหมือนที่อื่นๆ เพราะเป็นการ “ตักบาตรหาบจังหัน” ที่มีความพิเศษแตกต่างจากที่อื่น

กับข้าวใส่บาตรเตรียมพร้อมอยู่ในจังหัน
 

       ก่อนอื่นขอพาไปทำความรู้จักกับ “บ้านหาดสองแคว” กันก่อน หมู่บ้านแห่งนี้มีความเป็นมายาวนาน บริเวณที่ตั้งชุมชนมีแม่น้ำสองสายไหลมาบรรจบกัน คือแม่น้ำน่านและคลองตรอน ทำให้เกิดหาดสันทรายเป็นแนวยาวจนกลายเป็นชื่อเรียกของหมู่บ้าน
      
       นอกจากนั้น ผู้คนในท้องถิ่นยังมีเชื้อสาย “ลาวเวียง” หรือเชื้อสายของชาวลาวจากเมืองเวียงจันท์ ประเทศลาว ที่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยรัชกาลที่ 3 เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านกองโค (ขึ้นกับ ต.คอรุม อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ ในปัจจุบัน) และได้ขยายถิ่นฐานขึ้นมาทางทิศเหนือคือบ้านหาดสองแควในปัจจุบัน ทำให้ชาวบ้านหาดสองแควกว่า 90% ยังคงพูดคุยกันด้วยภาษาลาวเวียง กินอาหาร และมีวัฒนธรรมแบบชาวลาวเวียงอยู่จนปัจจุบัน

ทั้งชายหญิงต่างก็ช่วยกันหาบจังหันได้เช่นกัน
 

       ส่วนการตักบาตรยามเช้าของคนบ้านหาดสองแควที่กล่าวไปแล้วว่าเป็นการตักบาตรธรรมดาที่ไม่ธรรมดานั้น เรียกว่า “การตักบาตรหาบจังหัน” หรือ "ประเพณีการการหาบสาแหรก" ซึ่งเป็นประเพณีท้องถิ่นที่กระทำสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ โดย รัตนะ เสริมมา ประธานสภา อบต.หาดสองแคว เป็นผู้เล่าให้ฟังว่า คำว่า “จังหัน” หมายถึงภัตตาหารที่จะถวายแด่พระสงฆ์ ในยามเช้า พระสงฆ์จากวัดหาดสองแควจะแบ่งสายกันออกเดินบิณฑบาตไปตามหมู่บ้าน เดินไปจนสุดเส้นทางแล้วก็จะเดินกลับโดยยังไม่มีชาวบ้านคนใดออกมาใส่บาตร ขณะที่พระเริ่มเดินกลับนี่เอง ชาวบ้านที่อยู่ท้ายบ้านจะตีเกราะเป็นสัญญาณให้ทุกบ้านรู้ เพื่อจะได้ออกมายืนรอตักบาตร

 

มุ่งหน้าไปยังวัดหาดสองแคว
 

       และชาวบ้านที่มารอตักบาตรก็จะใส่บาตรเฉพาะข้าวสุก (ข้าวเจ้า) เท่านั้น โดยไม่มีกับข้าวใส่บาตร แต่จะนำกับข้าวคาวหวานอื่นๆ ตามไปถวายพระที่วัดภายหลัง ซึ่งการตักบาตรเฉพาะข้าวเปล่าแล้วค่อยนำอาหารไปถวายที่วัดนี้มักพบเห็นในประเทศลาว หรือจังหวัดในภาคอีสานของไทย เช่นที่ อ.เชียงคาน จ.เลย เป็นต้น ต่างกันตรงที่เป็นการตักบาตรข้าวเหนียวแทนข้าวสวย
      
       ความพิเศษที่น่ารักของการตักบาตรหาบจังหันอยู่ตรงการนำกับข้าวไปถวายพระที่วัดนั่นเอง โดยเมื่อพระสงฆ์เดินกลับวัดไปแล้ว แต่ละบ้านก็จะนำสำรับอาหารหรือปิ่นโตมาวางบนแป้นไม้หน้าบ้าน จากนั้นก็จะมีคนหาบสาแหรกไม้คานสายละ 3-4 คน นำสำรับอาหารของแต่ละบ้านที่วางบนแป้นไม้เหล่านั้นหาบไปถวายพระสงฆ์ที่วัด

 

เตรียมนำอาหารไปถวายพระ
 

       “คนที่ทำหน้าที่หาบสาแหรกนั้นจะเป็นใครชายหรือหญิงก็ได้ ไม่ได้กำหนดตายตัว ไม่ได้เป็นหน้าที่ประจำ ใครว่างก็หาบไป แต่ก็มีคนหาบทุกวันไม่เคยขาด จะรู้กันว่าวันนี้ใครอยู่ไม่อยู่ ใครติดธุระ ใครจะหาบแทน จะทำอย่างนี้ทุกวัน ยกเว้นวันพระที่ทุกคนจะหาบข้าวปลาอาหารไปที่วัดกันเอง โดยพระไม่ได้ออกบิณฑบาต” รัตนะ กล่าว
      
       และหลังจากที่คนหาบจังหันไปยังวัดแล้วก็จะจัดเรียงอาหารลงถาดโดยไม่ต้องถ่ายถ้วยชาม ผู้ชายจะทำหน้าที่ประเคนอาหารพระ แล้วนั่งรอจนพระฉันเสร็จ เมื่อพระให้ศีลให้พรแล้วก็จะนำอาหารมากินกัน ส่วนที่เหลือก็ส่งกลับเจ้าของเดิม ถ้าถ้วยอาหารของใครหมด คนหาบก็จะตักข้าวสุกใส่ให้จนเต็มถ้วย จากนั้นจะหาบถ้วยอาหารไปวางคืนไว้ตามแป้นไม้หน้าบ้านตามเดิมโดยไม่ผิดชามผิดบ้าน

ศรัทธาของชาวบ้านหาดสองแควในพระพุทธศาสนายังเหนียวแน่น
 

       “การหาบจังหันเป็นกุศโลบายที่เชื่อว่า ยิ่งหาบหนักยิ่งได้บุญมาก” รัตนะ กล่าวเสริม
      
       นับเป็นอีกหนึ่งประเพณีเล็กๆ แต่เปี่ยมไปด้วยความน่ารักจากความช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในชุมชน ซึ่งหากใครอยากมีโอกาสใส่บาตร ได้เห็น หรือได้หาบ ก็สามารถมาเยือนกันได้ที่บ้านหาดสองแคว โดยวิธีหนึ่งที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการมาสัมผัสวิถีชีวิตอย่างใกล้ชิดก็คือการมาพักที่ “โฮมสเตย์บ้านหาดสองแคว” โฮมสเตย์ที่ได้รับมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย มีบ้านพักรองรับนักท่องเที่ยวและผู้ที่มาศึกษาดูงานถึง 20 หลัง

บรรยากาศของ 1 ในบ้านพักโฮมสเตย์ที่บ้านหาดสองแคว
 

       ผู้ที่มาพักโฮมสเตย์นอกจากจะได้มาชมวิถีชีวิตของคนที่นี่แล้ว ก็ยังจะได้มาชิมอาหารพื้นบ้านตามแบบของชาวลาวเวียง (คลิกอ่านได้ที่นี่) ได้ทำบุญไหว้พระที่วัดหาดสองแคว ซึ่งชาวบ้านยังคงมีความผูกพันกับวัด เห็นได้จากในทุกๆ วันพระหรือวันสำคัญทางศาสนาจะมีพุทธศาสนิกชนมาร่วมทำบุญกันจนเต็มศาลาวัด อีกทั้งที่วัดหาดสองแควยังมีพระเครื่องที่ขึ้นว่าเป็นของดีของขลังให้คนได้เช่าบูชา ได้ปั่นจักรยานเที่ยวชมบรรยากาศในหมู่บ้าน ใช้ชีวิตช้าๆ สบายๆ แบบไม่เร่งรีบ และยังจะได้ชมบรรยากาศของแม่น้ำน่าน ได้ขึ้นแพท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ริมน่าน
มุมนั่งเล่นผ่อนคลายของโฮมสเตย์หลังหนึ่งในบ้านหาดสองแคว
 

       งานเทศกาลท่องเที่ยวที่สำคัญของบ้านหาดสองแควอีกงานหนึ่งก็คือ “งานย้อนรำลึกเส้นทางประวัติศาสตร์รัชกาลที่ 5 เสด็จเมืองตรอนตรีสินธุ์” ซึ่งจัดขึ้นทุกวันที่ 22 ตุลาคมของทุกปี ณ วัดหาดสองแคว เพื่อย้อนรำลึกวันที่พระพุทธเจ้าหลวงได้เสด็จประพาสมายังเมืองตรอน (ชื่อเดิมคือตรอนตรีสินธุ์) ผู้คนที่มาร่วมงานจะแต่งกายย้อนยุคสมัย ร.5 มาร่วมย้อนอดีตวิถีชีวิตชุมชน โดยมีอาหารและขนมท้องถิ่น (กาดมั่ว) ให้ชิมกันฟรีๆ อีกด้วย
บรรยากาศห้องนอนของบ้านพักโฮมสเตย์
 

       และนอกจากวัดหาดสองแควที่เป็นวัดคู่ชุมชนแล้ว ไม่ไกลจากบ้านหาดสองแควยังมี “วัดบ้านแก่งใต้” เป็นวัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งในตำบลบ้านแก่ง อำเภอตรอน ซึ่งมี “หลวงพ่อเพชร” เป็นพระพุทธรูปสำคัญ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปอกแตก เนื่องจากองค์หลวงพ่อเพชรเกิดกะเทาะชำรุดบริเวณหน้าอก ทำให้เห็นว่าด้านในมีองค์พระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งซ่อนอยู่ เนื่องจากเป็นกุศโลบายของคนโบราณที่ต้องการปกป้องพระพุทธรูปมีค่าให้พ้นจากการขโมยหรือทำลายโดยข้าศึก จึงสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่กว่าครอบปกป้องไว้ เมื่อกาลเวลาผ่านไปปูนเกิดกะเทาะจนทำให้เห็นพระพุทธรูปที่ซ่อนไว้ด้านในดูน่าอัศจรรย์
หลวงพ่อเพชร พระอกแตกแห่งวัดบ้านแก่งใต้

       และนี่ก็คือวิถีชีวิตชุมชน การตักบาตรหาบจังหัน และแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจของบ้านหาดสองแคว ที่หากใครอยากจะรู้จักก็ต้องลองมาสัมผัสด้วยตัวเองสักครั้งหนึ่ง
      
       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
      
       ค่าใช้จ่ายที่พักโฮมสเตย์บ้านหาดสองแคว ราคา 350 คน/คืน ราคานี้รวมค่าที่พัก อาหารเย็น/เช้า และอาหารใส่บาตร ติดต่อสอบถามที่พักโฮมสเตย์ได้ที่ สนิท ดีเพ็ชร ประธานกลุ่มโฮมสเตย์ โทร.08 4505 4672 หรือ อบต.หาดสองแคว โทร.0 5549 6098 หรือสอบถามข้อมูลการเดินทาง และการท่องเที่ยวจังหวัดแพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ได้ที่ ททท.สำนักงานแพร่ โทร.0-5452-1118,0-5452-1127


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

 วัตถุมงคล พระบูชา หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย หนองคาย ร้านโจ้กรุงเก่า  ห้างบิ๊กซีนวนคร ปทุมธานี โทร 095-743-2223 เปิด จันทร์-เสาร์ 09:00 - 17:00 หยุดวันอาทิตย์ Line - joamulet  //  www.facebook.com/joamulet

ชาตรี ย้อนยุค2507 และทุกรุ่น หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม อยุธยา

ร้านโจ้กรุงเก่า ชั้น1 ห้างบิ๊กซีนวนคร ปทุมธานี รับเช่า บูชา เลส กำไล แหวน หลวงพ่อรวย วัดตะโก  เปิด จันทร์-เสาร์ 09:00 - 17:00 หยุดวันอาทิตย์ โทร 085-321-6456  www.facebook.com/joamulet   Line ID - joamulet

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น