พระประธานภายในพระอุโบสถวัดบุญยืน
วันเข้าพรรษาเพิ่งผ่านพ้นไป แต่ความประทับใจที่ได้จากการไปร่วมงานประเพณี “ใส่บาตรเทียน” ที่วัดบุญยืน อ.เวียงสา จังหวัดน่าน ยังไม่หมดสิ้น ด้วยความที่เป็นประเพณีเล็กๆ แต่น่ารัก และอบอวลไปด้วยศรัทธาในพระพุทธศาสนา อีกทั้งยังมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน วันนี้จึงขอนำเรื่องราวและภาพบรรยากาศในงานประเพณีใส่บาตรเทียนที่วัดบุญยืนเมื่อวันที่อาทิตย์ที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมามาให้ชมกัน
พุทธศาสนิกชนนำเทียน ดอกไม้ น้ำส้มป่อย น้ำอบ น้ำหอมมาถวายพระเพื่อเป็นการขอขมา
ถวายด้วยความตั้งใจ
ประเพณีใส่บาตรเทียนจะจัดขึ้นหลังผ่านพ้นวันเข้าพรรษาไป 1 วัน แม้ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่เหล่าผู้รู้ในเวียงสาสันนิษฐานตรงกันว่า กำเนิดของการใส่บาตรเทียนน่าจะเริ่มขึ้นราวๆปี พ.ศ. 2344 หลังเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 55 ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สร้าง “วัดบุญยืน” ได้ 1 ปี
วัดบุญยืนถือเป็นวัดสำคัญคู่เมืองเวียงสา เป็นสถานที่หลักที่ใช้ในประเพณีใส่บาตรเทียนมาช้านาน เพราะเป็นวัดที่มีเจ้าคณะอำเภอและพระเถระที่มีอาวุโสอยู่จำพรรษามาตั้งแต่อดีต ในยุคโบราณที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ พระภิกษุสามเณรทุกรูปในเวียงสา ได้กำหนดเอาวันแรม 2 ค่ำ เดือน 8 (หรือเดือน 10 เหนือ) หรือหลังวันเข้าพรรษา 1 วัน จัดพิธีสูมาคารวะหรือพิธีขอขมาแก่เจ้าคณะอำเภอและพระชั้นผู้ใหญ่ขึ้น ในขณะที่พุทธบริษัททั้งหลายต่างก็ถือเอาวันเดียวกันนี้นำเทียนและดอกไม้มาถวายแก่พระภิกษุ-สามเณร เพื่อให้ได้มีแสงสว่างไว้ปฏิบัติศาสนกิจและศึกษาพระธรรมวินัยในยามค่ำคืน ซึ่งสอดคล้องกับพุทธบัญญัติที่ให้ญาติโยมได้ถวายเทียนให้กับพระภิกษุ สามเณร
พระสงฆ์ชั้นผู้น้อยก็ร่วมถวายเทียน ดอกไม้ และน้ำส้มป่อยเพื่อขอขมาพระชั้นผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน
พระภิกษุ-สามเณรจะค่อยเดินออกมาจากโบสถ์ นำเทียนมาใส่ในบาตร
การถวายเทียนเพื่อให้พระ-เณร ได้ใช้แสงสว่างศึกษาพระธรรมวินัยและใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆนั้น ยังมีนัยยะแฝงการแสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัย ครูบาอาจารย์ และการแสดงความอ่อนน้อมของเหล่าพระภิกษุสงฆ์ที่จะคารวะกัน โดยยึดถือจำนวนพรรษาหรือปีที่บวชเป็นสำคัญ มากกว่าสมณศักดิ์หรือตำแหน่งในคณะสงฆ์
ประเพณีใส่บาตรเทียนที่จะแบ่งเป็น 2 ช่วงด้วยกัน ในช่วงสาย พระภิกษุ-สามเณรในเวียงสา และพุทธศาสนิกชน จะนำเทียน ดอกไม้ น้ำส้มป่อย น้ำอบ น้ำหอม มาใส่ลงในภาชนะที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ภายในพระอุโบสถ แล้วฆราวาสก็จะพร้อมใจกันนำอาหารมาถวายภัตตาหารเพลแก่พระภิกษุ-สามเณร
หลังจากพระสงฆ์ พุทธบริษัทก็จะเดินใส่บาตรเทียนเป็นลำดับต่อไป
ทหารก็มาร่วมกับประชาชนใส่บาตรเทียนด้วยเช่นกัน
จากนั้นในช่วงบ่าย เป็นช่วงของพิธีใส่บาตรเทียน ซึ่งพระภิกษุ-สามเณรจะค่อยเดินออกมาจากโบสถ์ นำเทียนมาใส่ในบาตรที่ตั้งอยู่บนผ้าอาบน้ำฝนบนโต๊ะยาวหน้าโบสถ์ที่มีทั้งหมด 69 จุด (แทนจำนวน 68 วัด ส่วนอีก 1 จุด นับรวมแทน 11 สำนักสงฆ์ในเวียงสา)
หลังจากพระภิกษุนำขบวนใส่บาตรเทียนแล้ว ก็ถึงคราวของเหล่าพุทธบริษัทที่จะนำเทียนและดอกไม้ที่เตรียมมา เดินใส่บาตรเทียนกันเป็นแถวยาว ด้วยใบหน้าอิ่มเอิบเปี่ยมศรัทธา
เทียนและดอกไม้ถูกใส่ด้วยศรัทธาจนเต็มบาตร
ภิกษุสามเณรทำพิธีสูมาคารวะกับพระชั้นผู้ใหญ่
และหลังจากนั้น พระภิกษุ-สามเณรจะเดินกลับเข้าในโบสถ์อีกครั้ง เพื่อทำพิธีสูมาคารวะแก่พระแก้ว 5 โกฐากส์ ได้แก่ พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ร่วมด้วย พระกรรมฐาน และพระอาจารย์ผู้สอนกรรมฐาน รวมถึงการขอขมาแก่เจ้าคณะอำเภอและพระเถระชั้นผู้ใหญ่ผู้มีอายุพรรษามากตามลำดับ
จากนั้นกระบวนการสุดท้าย พระภิกษุและสามเณรจะแบ่งเทียนและดอกไม้ นำห่อด้วยผ้าสบงนำกลับวัดของตนเอง เพื่อนำไปจุดบูชาพระรัตนตรัยหรือเก็บไว้เป็นมงคล ถือเป็นอันเสร็จสิ้นพิธี
สามเณรแบ่งเทียนและดอกไม้ นำห่อด้วยผ้าสบงนำกลับวัดของตนเอง
พระอุโบสถวัดบุญยืน
สิ่งเหล่านี้เมื่อปฏิบัติสืบต่อกันมา ได้เกิดเป็นประเพณีใส่บาตรเทียนอันเป็นเอกลักษณ์ขึ้นจนถึงปัจจุบัน ที่แม้จะมีไฟฟ้าแสงสว่างเข้ามาแทนที่แสงเทียน แต่ชาวเวียงสาก็ยังคงร่วมกันสืบสานประเพณีใส่บาตรเทียนให้คงอยู่สืบมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น